การประเมินความเสี่ยงและสาเหตุของโรคกระดูกพรุน

การประเมินความเสี่ยงทางคลินิก

ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้

(Non-modifiable risk factors)

ปัจจัยเสี่ยงที่ปรับเปลี่ยนได้

(Modifiable risk factor)

1. อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป

2. เพศหญิง

3. ผู้หญิงผิวขาวและผู้หญิงเอเชีย

4. หมดประจำเดือนก่อนอายุ 45 ปี รวมถึงผู้ที่ถูกตัดรังไข่ 2 ข้าง

5. โครงสร้างของร่างกายเล็ก (small body build)

6. บิดา มารดา พี่หรือน้องเป็นโรคกระดูกพรุนหรือกระดูกหักง่าย

7. เคยกระดูกหักจากภาวะกระดูกเปราะบาง (fragility fracture)

1. บริโภคแคลเซียมและวิตามินดีไม่เพียงพอ

2. ไม่ค่อยได้ใช้แรงกาย (sedentary lifestyle)

3. สูบบุหรี่เป็นประจำ

4. ดื่มสุราเป็นประจำ

5. ดื่มกาแฟหรือน้ำอัดลมเป็นประจำ

6. ดัชนีมวลกายต่ำกว่า 20 กิโลกรัมต่อตารางเมตร

7. มีภาวะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนมากกว่า 1 ปีขึ้นไป

8. มีความเสี่ยงต่อการหกล้ม เช่น การมองเห็นไม่ชัดเจน กินยานอนหลับ ยาลดความดัน เป็นต้น

สาเหตุของโรคกระดูกพรุน แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักคือ

  1. โรคกระดูกพรุนชนิดปฐมภูมิ (Primary osteoporosis) สาเหตุเกิดจากตัวกระดูกเอง ได้แก่

1.1 โรคกระดูกพรุนในสตรีวัยหมดประจำเดือน (Postmenopausal osteoporosis) เกิดจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนทำให้เกิดการสลายของมวลกระดูกเพิ่มขึ้น พบในผู้หญิงวัยหลังหมดประจำเดือน หรือ อายุระหว่าง 50-65 ปี มักพบกระดูกหักบริเวณกระดูกแขนส่วนปลายและกระดูกสันหลังทรุด

1.2 โรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ (Age-associated or senile osteoporosis) พบทั้งผู้หญิงและผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 70 ปี ทำให้การสร้างมวลกระดูกลดลง เกิดจากปริมาณแคลเซียมและวิตามินดีไม่เพียงพอ มักพบกระดูกหักได้บ่อยบริเวณกระดูกข้อสะโพก

  1. โรคกระดูกพรุนชนิดทุติยภูมิ (Secondary osteoporosis) สาเหตุเกิดจากระบบอื่นๆ ส่งผลกระทบมาที่กระดูก ได้แก่

2.1 ระบบต่อมไร้ท่อผิดปกติ เช่น โรคเบาหวานทั้งชนิดที่ 1 และ 2 โรคฮอร์โมนพาราไทรอยด์หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ โรคต่อมหมวกไตทำงานน้อยผิดปกติ ภาวะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน

2.2 ขาดแร่ธาตุและวิตามินที่จำเป็นต่อการสร้างกระดูก เช่น ขาดแคลเซียม วิตามินดี แมกนีเซียม หรือวิตามินเค เป็นต้น

2.3. ต่อมเพศทำงานน้อยผิดปกติ (Hypogonadal states) มักพบในเพศชายที่ขาดฮอร์โมน testosterone

2.4. สาเหตุอื่น ๆ เช่น การดื่มสุรา การใช้ยาบางชนิดที่เร่งการทำลายกระดูก เช่น ยาสเตียรอยด์ ยากันชัก ยาละลายลิ่มเลือดบางชนิด การขาดการออกกำลังกาย หรือการขยับเคลื่อนไหวร่างกายน้อย เช่น ผู้ป่วยพิการที่นอนติดเตียงตลอดเวลา เป็นต้น

บทความโดย นพ.ธนวัฒน์ อำพันทรัพย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคกระดูกพรุน และโรคกระดูกในผู้สูงอายุ รพ.ตำรวจ

Scroll to Top