โรคกระดูกพรุน ภัยเงียบที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

มารู้จักโรคกระดูกพรุนกันครับ

โรคกระดูกพรุนเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่เป็นภัยเงียบคล้าย ๆ กับภาวะความดันโลหิตสูงหรือไขมันในเลือดสูง ซึ่งคุกคามสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุนจะไม่มีอาการหรืออาการแสดงให้เห็น ทำให้ยากแก่การวินิจฉัยและการให้การดูแลรักษาตั้งแต่แรก ถ้าพิจารณาจากสถานการณ์ในปัจจุบันจะพบว่าคนไทยมีอายุยืนยาวมากขึ้นโดยเฉพาะผู้หญิง ส่งผลให้โรคเรื้อรังต่างๆก็จะเกิดตามมา หนึ่งในโรคทางกระดูกที่พบมากขึ้น คือ โรคกระดูกพรุนนั่นเอง

อุบัติการณ์ทั่วโลกสำหรับโรคกระดูกพรุนในผู้หญิงวัยหลังหมดประจำเดือน พบประมาณ 200 ล้านคน โดยโรคกระดูกพรุนจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุดังนี้ ในกลุ่มอายุ 50-59, 60-69, 70-79 และมากกว่า 80ปี จะพบอุบัติการณ์โรคกระดูกพรุนร้อยละ 4, 8, 25 และ 48 ตามลำดับ(1) ภาวะแทรกซ้อนตามมาที่สำคัญ คือ การเกิดกระดูกหักง่ายจากภาวะกระดูกเปราะบาง (fragility fracture) จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ผู้สูงอายุจะเกิดกระดูกหักง่ายเฉลี่ยทุกๆ 3 วินาที หรือคิดเป็น 25,000 ครั้งต่อวัน หรือ 9 ล้านครั้งต่อปี ถ้าแบ่งตามเพศจะพบว่า ในผู้หญิงและผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสเกิดกระดูกหักง่ายถึงร้อยละ 35 และ 20 ตามลำดับ(2-4) ถ้าแบ่งตามตำแหน่งที่กระดูกหักง่ายพบว่า มีการเกิดกระดูกหักง่ายจากโรคกระดูกพรุนสูงถึง 9 ล้านคน โดยหักที่กระดูกข้อมือ 1.7 ล้านคน ที่กระดูกสะโพก 1.6 ล้านคน ที่กระดูกสันหลัง 1.4 ล้านคน และที่กระดูกต้นแขน 0.7 ล้านคน(5) นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยมักจะมีความทุกข์ทรมานทางกาย จิตใจ และต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างมาก โดยเฉลี่ยคิดเป็นมูลค่าถึง 32 พันล้านยูโรหรือ 20 พันล้านดอลล่าสหรัฐต่อปี(6)

นอกจากการเกิดกระดูกหักง่ายจากภาวะกระดูกเปราะบางแล้ว ยังพบว่าอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยหลังจากกระดูกหักอยู่ที่ประมาณ 18-20% หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่าทั้งเพศชายและเพศหญิง โดยอัตราการเสียชีวิตจะเกิดสูงสุดภายใน 1-2 ปีแรกภายหลังจากที่ผู้ป่วยเกิดกระดูกหักง่าย(7) ส่วนปัจจัยที่มีผลกระทบต่ออัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น ได้แก่ เพศชาย อายุที่มากกว่า 70 ปี การรักษาโดยวิธีอนุรักษ์หรือโดยวิธีไม่ผ่าตัด(8)

โรคกระดูกพรุนคือโรคอะไร

            โรคกระดูกพรุนเป็นโรคของกระดูกที่เกิดขึ้นทั่วร่างกาย (systemic skeletal disease) โดยผู้สูงอายุจะมีมวลกระดูกที่น้อยลง (low bone mass) ร่วมกับการลดลงหรือเสื่อมสภาพของโครงสร้างระดับจุลภาคของกระดูก (micro-architectural deterioration) ส่งผลให้กระดูกเปราะบาง และเมื่อเกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย เช่น หกล้ม กระดูกที่เปราะบางก็จะเกิดกระดูกหักง่ายในที่สุด

กลไกการเกิดโรคกระดูกพรุน

โครงสร้างของกระดูกประกอบด้วยสารคอลลาเจนและแร่ธาตุโดยเฉพาะแคลเซียม โดยปกติร่างกายสร้างและทำลายกระดูกตลอดเวลาโดยการควบคุมของระบบฮอร์โมนและเซลล์ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นถ้ากลไกการสร้างและทำลายกระดูกไม่สมดุลกัน เช่น มีการสลายกระดูกมากเกินไป หรือมีการสร้างกระดูกน้อยเกินไป หรือกระดูกขาดแคลเซียมก็จะทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้ โดยทั่วไปมนุษย์มีค่าเฉลี่ยมวลกระดูกสูงสุดเมื่ออายุ 30 ปี จากนั้นมวลกระดูกจะค่อยๆ ลดลง โดยพบว่าพันธุกรรมส่งผลต่อค่าเฉลี่ยมวลกระดูกสูงสุดถึงร้อยละ 80 เลยทีเดียว ปัจจัยสำคัญรองลงมาที่ทำให้เรามีค่าเฉลี่ยมวลกระดูกลดลงคือ อายุที่มากขึ้น และ การขาดฮอร์โมนเพศโดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจน นอกจากนี้ยังพบว่าการไม่ออกกำลังกาย การดื่มสุรา หรือการใช้ยาบางชนิดก็ทำให้มวลกระดูกลดลงได้รวดเร็วเช่นกัน

  • อายุที่มากขึ้นทำให้เซลล์สร้างกระดูกมีจำนวนลดลง พบว่าหลังจากอายุ 30 ปี อัตราการสลายกระดูกจะมากกว่าการสร้างกระดูกทำให้กระดูกบางและพรุนในที่สุด สำหรับเพศหญิงนั้นจะมีการสูญเสียมวลกระดูกได้มากถึงร้อยละ 50 ส่วนเพศชายประมาณร้อยละ 30 ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของกระดูก
  • การขาดฮอร์โมนเพศโดยเฉพาะการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้เซลล์สร้างกระดูกทำงานน้อยลง แต่เซลล์สลายกระดูกเพิ่มจำนวนและทำงานมากขึ้น ผลลัพธ์คือทำให้มวลกระดูกลดลง และส่งผลกระทบมากสุดเมื่อสตรีเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน
  • การขาดแคลเซียมและวิตามินดี ร่างกายมีกลไกที่ทำงานประสานกันระหว่าง แคลเซียม วิตามินดี และ ฮอร์โมนพาราไทรอยด์ เพื่อรักษาสมดุลของกระดูกเมื่อร่างกายขาดแคลเซียม เช่น จากการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมต่ำหรือจากการที่ลำไส้ดูดซึมแคลเซียมได้น้อยลง จะทำให้ระดับฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูงขึ้นทำให้เกิดการสลายกระดูกมากขึ้น ถ้าร่างกายขาดวิตามินดีจะทำให้เซลล์สร้างกระดูกทำงานแย่ลงส่งผลให้การสร้างกระดูกน้อยลง อีกทั้งยังทำให้ฮอร์โมนพาราไทรอยด์หลั่งมากขึ้นเกิดการสลายกระดูกเพิ่มขึ้นเป็นวงจรต่อเนื่องเช่นนี้จนเกิดโรคกระดูกพรุนในที่สุด
  • การใช้ยาหรือสารบางชนิดที่มีส่วนประกอบของสเตียรอยด์ จะทำให้เซลล์สร้างกระดูกทำงานน้อยลงและตายเร็วขึ้น

บทความโดย นพ.ธนวัฒน์ อำพันทรัพย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคกระดูกพรุน และโรคกระดูกในผู้สูงอายุ รพ.ตำรวจ

เอกสารอ้างอิง

  1. Riggs BL, Melton LJ. 3rd.Involutional osteoporosis. N Engl J Med. 1986 Jun 26;314: 1676-1686
  2. Van Staa TP, Dennison EM, Leufkens HG, Copper C. Epidemiology of fractures in England and Wales. Bone 2001; 29: 517-522
  3. Office of the Surgeon General (US). Bone Health and Osteoporosis: A Report of the Surgeon General. Rockville (MD); 2004.
  4. Kanis JA et al. on behalf of the Scientific Advisory Board of ESCEO and the Committee of Scientific Advisors of IOF. European guidance for diagnosis and management of osteoporosis in postmenopausal women. In press. Osteoporosis Int 2012;DOI10.1007/s00198-012-2074-y
  5. Johnell O, Kanis JA. An estimate of the worldwide prevalence and disability associated with osteoporotic fractures. Osteoporos Int. Dec 2006; 17(2): 1726-1733
  6. International Osteoporosis Foundation. The Asian Audit: Epidemiology, costs and burden of osteoporosis in Asia 2009.
  7. Phadunkiat S, Chariyalertsak S, Rajatanavin R et al. Incidence of osteoporotic hip fracture in Chiang Mai. J. Med Assoc Thai, 2002; 85(5):565-571
  8. Vaseenon T, Luevitoonvechkij S, Wongtriratanachai P et al. Long-term mortality after osteoporotic hip fracture in Chiang Mai, Thailand. J Clin Densitom. 2010;13(1):63-67
Scroll to Top